เปิดให้บริการอาหารไทยโบราณ เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

สำหรับอาหารมื้อกลางวัน เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 11.00 - 14.00 น.
สำหรับอาหารมื้อเย็น เปิดให้บริการเฉพาะกรุ๊ปจอง 80 ท่านขึ้นไป ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น.

**กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน โทร: 034-540884–86

สำหรับอาหารมื้อกลางวัน (บุฟเฟ่ต์)

ประกอบไปด้วยทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่มสมุนไพรไทย มีให้เลือกรับประทานกันอย่างจุใจ ด้วยรสชาติและกรรมวิธีในการทำแบบดั้งเดิม ซึ่งยากที่จะหาทานได้ยากในปัจจุบัน อาทิ ต้มกะทิสายบัวปลาทู ผัดพริกขิงกากหมู ยำหัวปลี ไข่ลูกเขย ม้าฮ่อ เป็นต้น

สำรับเย็นแบบไทยโบราณ

ประกอบไปด้วย น้ำพริกอ่องไก่ แกงรัญจวน ห่อหมกปลายี่สก แกงมัสมั่นไก่ ยำมะกะโท ปลาทอดสมุนไพร ที่เลือกอาหารดังกล่าวมานั้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มชิมอาหารที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่หากินได้ยากในปัจจุบัน หรือที่มีอยู่ก็ถูกดัดแปลงไปมากแล้ว ซึ่งกรรมวิธีการทำแต่ละเมนู นั้นยุ่งยากมากจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักเนื่องจากหาคนทำเป็นได้ยากขึ้นทุกที นอกจากนี้ยังมี ออเดิร์ฟ เมนูพิเศษ สำหรับอาหารมื้อเย็น นั่นก็คือ "ข้าวตังหน้าตั้ง และ หมี่กรอบโบราณ" สูตรดั้งเดิมแต่โบราณมาให้ทุกท่านได้ลิ้มรสกันถึงที่

*ราคาบัตรสำรับเย็นรวม ข้าวสวย ผลไม้รวม เครื่องดื่ม (น้ำเปล่า) สามารถเติมอาหารได้ไม่จำกัด (ยกเว้นออเดิร์ฟ "ข้าวตังหน้าตั้ง" และผลไม้ จะไม่สามารถเติมได้)*

**สำรับเย็นแบบไทยโบราณ เปิดให้บริการเฉพาะกรุ๊ป 80 ท่านขึ้นไป**

การแสดง

มีทั้งหมด 5 ชุด ระยะเวลา 1 ชั่วโมง เริ่มแสดงที่เวลา 18.30 น.
(การแสดงอาจมีการเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนตามความเหมาะสม)

  • โขน ชุด ทศกัณฐ์รบพระราม (ยกรบ)

    การแสดงชุดนี้ อยู่ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์เป็นการทำสงครามระหว่างพระราม พระลักษณ์ และพลวานรกับทศกัณฐ์พญายักษ์แห่งกรุงลงกา การรบของทั้งสองฝ่ายเต็มไปด้วยชั้นเชิงของลีลาท่ารำ กระบวนการรบและความสามารถที่มีเอกลักษณ์ประณีตงดงาม

  • รำซัดชาตรี

    เป็นการแสดงที่นิยมจนมีแบบแผนเป็นของตนเอง ในแบบศิลปะทางใต้ของไทยปรับปรุงมาจากรำซัดไหว้ครูของละครชาตรี ซึ่งเคยเป็นละครรำแบบเก่าชนิดหนึ่งของไทย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของละครรำประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับการปรับปรุงในสมัยต่อมา ประเพณีการแสดงละครชาตรี ถือธรรมเนียมกันว่าผู้แสดงตัวพระ จะต้องรำไหว้ครูเป็นการเบิกโรงเรียกว่า " รำซัด " โดยมีโทน ปี่ กลอง กรับ ประกอบจังหวะ ต่อมากรมศิลปากรได้ดัดแปลงรำซัด และปรับปรุงให้มีผู้รำทั้งฝ่ายชาย(ตัวพระ) และหญิง(ตัวนาง) เพื่อให้น่าดูมีชีวิตชีวา โดยรักษาจังหวะอันเร่งเร้าไว้อย่างเดิม สิ่งสำคัญของการรำนั้น จะมีการรวมจุดที่กำหนดเป็นอย่างดีระหว่างท่าทางที่เคลื่อนไหว ในระหว่างที่รำอยู่ในจังหวะที่เร่งเร้าของผู้รำ กับจังหวะของการตีกลอง ผู้ตีกลองจะต้องตีกลองไปตลอดเวลาไปพร้อมๆ กับผู้ที่ร่ายรำจนครบจังหวะของการแสดง ให้ประสานกลมกลืนกัน จนเป็นที่นิยมชมชอบจากผู้ชมที่ได้ชมการแสดงชุดนี้เสมอมา

  • รำกินรีร่อน

    การแสดงชุดนี้ได้รวมการแสดงสองชุดมาไว้ในชุดเดียวกัน เพื่อให้น่าสนใจแปลกตายิ่งขึ้น การแสดงชุดนี้ได้รับความนิยมยกย่องอย่างมากในด้านความวิจิตรสวยงามของกระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย โดยชุดแรก คือ กินรีร่อนเป็นการรำในฉากหนึ่งที่นางมโนราห์และพี่ๆบินมาเล่นน้ำที่สระอโนดาษ เขาไกรลาศ และการแสดงอีกชุดหนึ่งที่นำมารวมกันไว้คือ ชุดการรำมโนราห์ โดยคุณหญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ มโนราห์บูชายันต์เป็นการรำของนางมโนราห์ก่อนที่จะแกล้งโดดเข้ากองไฟเพื่อบินหนีไป

  • ระบำศรีชัยสิงห์

    ถือเป็นระบำที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากท่ารำของระบำชุดนี้มาจาก ภาพประติมากรรม และภาพศิลาจำหลักจากการฟ้อนรำเป็นพุทธบูชา ของนางอัปสรบายน ภายในปราสาทเมืองสิงห์ ชองจังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นการแสดงที่สวยงาม และเป็นที่นิยมสูงสุดชุดหนึ่ง

  • กระบี่กระบอง

    การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่เรียกว่า กระบี่กระบอง เพราะเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณมาฝึกซ้อมและเล่นในยามสงบโดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว เป็นต้น โดยเอาหนังมาทำโล่ เบน ดั้ง แล้วจัดมาตีต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกันเป็นคู่ๆ ดุจสู้กันในสนามรบเป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว