จุดสนใจต่างๆ

เมืองมัลลิกา เป็นเมืองย้อนยุคของวิถีชีวิตชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วิถีชีวิตของชาวสยามในยุค ร.ศ.๑๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลายด้าน ที่เด่นชัดมากคือการประกาศเลิกทาส เมื่อทาสได้รับความเป็นไทพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อาศัยและทำมาหากินด้วยตนเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติหรือการดูแลของบรรดาเจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป พวกเขาต้องดำรงชีวิตให้อยู่รอด พึ่งตนเอง และอยู่ร่วมกับคนสยามทุกหมู่เหล่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเหล่านี้นับเป็นรากเหง้าสำคัญของคนไทยในยุคปัจจุบัน

สะพานหัน

ชื่อนี้เรียกตามจาก ลักษณะของตัวสะพานที่ สมัยก่อนนั้นจะเป็นไม้แผ่นเดียวพาดข้ามคลอง ปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นกับที่ ส่วนอีกข้างจะไม่ตอกติด จับหันไปมาได้เพื่อให้เรือแล่นผ่านต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างใหม่เป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนทำเป็นแบบสะพานริอัลโตทีนครเวนิซ และที่ปองเตเวกคิโอ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี คือ เป็นสะพานไม้โค้งกว้าง สองฟากสะพานมีห้องแถวเล็กๆ ให้ขายของ ส่วนตรงกลางเป็นทางเดิน ซึ่งสะพานนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ชอบเสด็จประพาสเพื่อซื้อผลไม้แห้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นลูกพลับแห้ง และผลไม้แห้งต่างๆ นานาชนิด

ย่านการค้า

ในสมัย ร.ศ. ๑๒๔ มีย่านการค้าที่ขึ้นชื่อและมีสินค้ามากและทันสมัยสำหรับยุคสมัยนั้น ได้แก่

ย่านถนนแพร่งนรา ชื่อถนนมาจากพระนาม “ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ “ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายวรวรรณษกร ต้นราชสกุลวรวรรณ ณ อยุธยา เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเขียน ทรงรับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ ตำแหน่งรองเสนาบดี ประทับ ณ วัง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้นริมถนนตะนาว มีอาณาเขตต่อจาก วังพระเจ้าบรมวงศ์กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ขณะประทับ ณ วังนี้ โปรดให้สร้างโรงละครขึ้นชื่อโรงละครปรีดาลัย แสดงละครร้องนับเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของไทย ในครั้งนั้นสันนิษฐานว่า โปรดให้ตัดถนนผ่านกลางวังพร้อมกับสร้างตึกแถว สองข้าง คนทั่วไปจึงเรียกถนนตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งนรา"

  • อ่านเพิ่มติม

    ถนนแพร่งภูธร ชื่อถนนมาจากพระนาม “ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ “ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทวีถวัลยลาภ ต้นราชสกุลทวีวงศ์ เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาตลับทรงรับราชการตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงนครบาล ประทับ ณ วัง บริเวณริมถนน หัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้า ริมถนนบ้านตะนาว ครั้นกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2440 หม่อมเจ้าในกรมได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถว และตัดถนนผ่านบริเวณวังเรียก ชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ ถนนแพร่งภูธร ”

    ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ชื่อถนนมาจากพระนาม “ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ “ พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าชายทองแถม ถวัลยวงศ์ ต้นราชสกุลทองแถม เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงรับราชการตำแหน่ง กรมช่วยมหาดเล็ก เป็นผู้บังคับการกรม ประทับ ณ วังริมถนนบ้านตะนาว ในอาณาเขตต่อจากวัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ สิ้นพระชนม์ ทายาทได้ขายพื้นที่ตั้งวัง ให้กับเอกชน ตัววังถูกรื้อสร้างอาคารพานิชย์ และตัดถนนผ่าน ถนนผ่านบริเวณวังเรียก ชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งภูธร ”

    ย่านบางรัก เป็นย่านการค้าที่สำคัญ มีร้านค้าที่ทันสมัยอยู่มาก ย่านเยาวราช อันเป็นย่านที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่มาก มีวัฒนธรรมการกินอยู่ที่น่าสนใจ มีอาหารจีนอร่อย รวมถึงของกินที่แปลกใหม่สำหรับสมัยนั้น อาทิ ข้าวเสียโป

หอชมเมือง

จำลองมาจากหอคอยคุก ซึ่งเป็นหอคอยที่ใช้สำหรับตรวจตราป้องกันมิให้นักโทษหนี ซึ่งเมืองมัลลิกา ใช้สำหรับชมเมือง ว่ามีทัศนียภาพที่ว่างดงามเพียงใด

เรือนเดี่ยว

เป็นเรือนชาวบ้าน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่เรือนนี้คือคนชนชั้นกรรมาชีพ มีหน้าที่ ผลิตปัจจัยเบื้องต้นในการยังชีพอันได้แก่ การทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก สีข้าว ทอผ้า จักสาน อันเป็นอาชีพทั่วไปของชนชั้นนี้ ในเมืองมัลลิกา นั้นจะมีเรือนเดี่ยว เพื่อแสดงถึงวิถีของชาวบ้านในสมัย ร.ศ. ๑๒๔ ว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร

เรือนคหบดี

เป็นเรือนคนมีฐานะ บนเรือนคหบดีนั้น แสดงวิถีความเป็นอยู่ของชนชั้นปกครองซึ่งจะมีกิจกรรมบนเรือน เช่น งานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานวิจิตรที่จะใช้จริงในเมืองมัลลิกา และในบริเวนเรือนคหบดีนั้นยังเรือนที่เป็นองค์ประกอบของเรือน คือ เรือนครัว ซึ่งต้องทำอาหารเลี้ยง บ่าวไพร่ที่มีเป็นจำนวนมาก โดยการหุงข้างเตากระทะ การประกอบอาหาร หวาน คาว สำหรับรับรองแขกเหรื่อ

โรงครัว

ประกอบด้วย โรงสี ยุ้งข้าว โรงเตรียม แสดงกรรมวิธีการฝัดข้าว สีข้าว ตำข้าว พร้อมทั้ง การหุงข้าวเตากระทะใบบัว แม่ครัวในโรงครัวนั้นต้องทำอาหารเลี้ยงบ่าวไพร่จำนวนมาก และประกอบอาหารคาวหวาน เพื่อรับรองแขกเหรื่อ โดยเป็นการประกอบอาหารด้วยเตาถ่านทั้งสิ้น

เรือนแพ

ในยุคสมัยนั้น การสัญจรไปมาส่วนใหญ่ใช้แม่น้ำดังนั้น ร้านค้าขายที่จะตั้งอยุ๋ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ซึ่งในเมืองมัลลิกาก็เข่นเดียวกัน จะมีเรือนแพสำหรับค้าขาย เป็นร้านกาแฟ ตงฮู ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยในยุคนั้นโดยการนำเข้าเมล็ดกาแฟสดจากต่างประเทศเข้ามา และเพื่อรองรับนักเดินทาง ก็จะมีร้านข้าวแกงทรงโปรดในเรือนแพนี้ด้วย อันร้านข้าวแกงทรงโปรดนั้น ทางเมืองมัลลิกาได้ นำเอาอาหารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงโปรดมา เพื่อให้ประสกนิกร และนักท่องเที่ยวได้เห็นความเรียบง่ายของอาหารที่ มหาราชขของชนชาวไทยเสวยซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ง่ายแต่มีความอร่อยอย่างไทยแท้

เรือนหมู่

เป็นเรือนสำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมือง ของคหบดีไทยซึ่งอาจเป็น ขุนนางผู้ทรงศักดิ์ หรือคหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งในสมัยนั้น นิยมมีคณะนาฎศิลป์ เป็นของตนเอง สำหรับรับแขก ดังนั้นเมืองมัลลิกา จึงสร้างเรือนหมู่ ขึ้นซึ่งถือว่าเป็นเรือนหมู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเรือนหมู่ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงวิถึชีวิต ของนาฎศิลป์ไทย ว่าใช้ชีวิตอย่างไรในเวลากลางวันและในเวลากลางคืนเมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเพื่อรับประทานอาหารเย็นนั้น บนเรือนจะมีการแสดงนาฎศิลป์ไทย และเสริฟอาหารไทยโบราณทีคงความเป็นไทย ในแบบฉบับของไทย อาหารที่เป็นภูมิปัญญาไทย ที่บรรพบุรุษของไทยได้สร้างสรรค์ไว้ให้ลูกหลานไทย เราจะเห็นอาหารที่เป็นภูมิปัญญาโดยแท้ อาทิ แกงบวน ซึ่งเป็นต้มเครื่องในที่ไร้กลิ่นคาว มีสมุนไพรมากมายเพื่อบำรุง ทำให้อาหารมีประโยชน์เต็มที่ และจะได้สัมผัสความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทย ว่าคนไทยไม่ได้กินด้วยปากอย่างเดียว แต่กินด้วยตาด้วย ซึ่งไม่ว่าชนชาติใดในโลกก็ต้องยอมรับศิลปะของไทยแม้กระทั่งการกิน

ลานมะลิ

เนื่องจากมัลลิกา ตามพจนานุกรมไทย แปลว่ามะลิในประเทศไทยมีมะลิมากกว่าร้อยชนิดซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ทราบกันมากจึงได้สร้างลานมะลิเพื่อรวบรวมมะลิพันธุ์ต่างๆมาไว้ให้ได้ดูและได้ดม

ห้องเล่าเรื่อง

เรื่องราวข้างต้นสะท้อนความงามของวิถีชีวิตคนไทยในอดีตเมื่อ 110 ปีก่อน แสดงออกถึงความสงบร่มเย็นในแบบที่เราไม่สามารถพบเจอได้อีกแล้วทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า เยาวชนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในชีวิตประจำวัน พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างง่ายดาย และเรียนรู้กระแสความเป็นไปของโลกได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาสนใจการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคนในวัยเดียวกันมากกว่าการเรียนรู้จากบรรพบุรุษของตน อีกทั้งชื่นชอบการเลียนแบบอย่างวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าที่จะอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย จะเห็นได้ว่าความทันสมัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคล่าอาณาคม ซึ่งในเวลานั้นคนไทยได้มีการติดต่อกับชาวต่างชาติรวมถึงเหล่าทหารจากชาติตะวันตกเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ที่แทบจะหลงลืมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทยไปเสียสิ้น น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนไม่มีความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย และไม่รู้เลยว่าความเป็นไทยแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร