Background Image

ความเป็นมา

เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ 

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๗ แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปีเป็นทาสอีก เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๘ ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. ๑๒๔" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ ๔ บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว นับแต่นั้นมาคนไทยจึงเริ่มมีความสุข เริ่มมีการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการเลี้ยงดูจากนายเงิน ซึ่งก็ยังมีบางส่วนที่ยังยึดติดกับนายเงินอยู่ เนื่องจากมีความสุขสบายที่ไม่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ดังนั้นในยุคสมัยดังกล่าวจึงมีวัฒนธรรมที่เริ่มเปลี่ยนไป คนที่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ได้แสดงความคิด แสดงออก ถึงความต้องการของตนเอง ไม่ต้องทำตามคำสั่งของนายเงิน ประจวบกับมีวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มไหลเข้ามา

จากการที่คนไทยที่มาฐานะส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ และการคมนาคม ที่สะดวกขึ้น ทำให้มีต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสยามมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน ทำให้วัฒนธรรมของสยามที่มีมาแต่เดิมเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของคนสยามในยุคปัจจุบัน เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ จึงถือกำเนิดขั้นมาเพื่อย้อนรอยอดีตแห่งความทรงจำของสยามประเทศ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นสยาม มีความวิจิตรบรรจง มีความสงบร่มเย็น ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่ง สมเด็จพระปิยมหาราช แห่งสยามประเทศ ที่ทรง คุณูประการกับบรรพบุรุษของชาวสยามในยุคปัจจุบัน

เมืองมัลลิกา เป็นเมืองย้อนยุคของวิถีชีวิตชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วิถีชีวิตของชาวสยามในยุค ร.ศ.๑๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลายด้าน ที่เด่นชัดมากคือการประกาศเลิกทาส เมื่อทาสได้รับความเป็นไทพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อาศัยและทำมาหากินด้วยตนเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติหรือการดูแลของบรรดาเจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป พวกเขาต้องดำรงชีวิตให้อยู่รอด พึ่งตนเอง และอยู่ร่วมกับคนสยามทุกหมู่เหล่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเหล่านี้นับเป็นรากเหง้าสำคัญของคนไทยในยุคปัจจุบัน

เมืองมัลลิกา ในความหมายของ อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เป็นเมืองที่มีความหมายมาจากแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำอิระวดีในประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรวมอารยะธรรมโบราณในแถบภูมิภาคนี้ แต่ตามความหมายของพจนานุกรมไทยแปลว่า “มะลิ“ ซึ่งการออกแบบทางสถาปัตยกรรมนั้น ผู้ออกแบบคือ อาจารย์ ชาตรี ปกิตนนทกานต์ ในขณะที่ออกแบบท่านดำรงตำแหน่ง คณะบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชา สถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านได้ผูกเรืองเพื่อการออกแบบโดยมีตัวละครหลักคือ แม่มะลิ หญิงสาวชาวบ้านอันงดงามอาศัยอยู่บ้าน “เรือนเดี่ยว” เป็นลูกสาวชาวนา ต่อมาได้แต่งงานกับข้าราชการหนุ่ม และเริ่มค้าขายโดยสร้าง “เรือนแพ” ไว้สำหรับค้าขาย โดยอาศัยที่มีสามีเป็นข้าราชการทำให้มีช่องทางในการค้าขายโดยเฉพาะการค้าขายน้ำตาลโดยเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น และโดยที่แม่มะลิเอง มีความงดงามและเรียบร้อยตามแบบฉบับหญิงไทย ทำให้การค้าขายยิ่งเจริญงอกงามในขณะที่สามีซึ่งรับราชการก็มีบรรดาศักดิ์สูงขึ้น ฐานะก็มั่นคงขึ้นจึงได้สร้าง “เรือนคหบดี” ขึ้นให้สมกับฐานะที่สูงขึ้น จากบรรดาศักดิ์ ที่สูงขึ้นประกอบการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ทำให้มีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น มีการไปมาหาสู่กับบรรดาข้าราชการผู้สูงศักดิ์มากขึ้นจึงได้สร้าง “เรือนหมู่” ขึ้นเพื่อไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างสมศักดิ์ศรี จึงเกิดมีเรือนไทยตามแบบที่ถูกต้องตามหลักการสร้างเรือนประเภทต่างๆ ในเมืองมัลลิกา

ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองท่านานาชาติที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประเพณี การผสมผสานทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งแบบแผนการใช้ชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ หลายคนนิยามยุคสมัยนี้ว่าเป็นยุคทองแห่งความศิวิไลซ์ หลายคนอยากหวนกลับไปสัมผัสบรรยากาศบ้านเมืองและผู้คน ต้องการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ของสยามประเทศเมื่อครั้งเก่า ที่เต็มไปด้วยรากเหง้าดั้งเดิมที่กำลังก้าวรับความเป็นสมัยใหม่ ดังเหตุที่กล่าวมาแล้วนั้น เมืองมัลลิกา จึงมีย่านการค้าที่แสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ในยุคนั้น มีการค้ามากมาย มีความวิจิตรบรรจง กับขนม และ อาหารการกินที่ รวมถึงเครื่องใช้สอยที่แปลกตา สำหรับคนรุ่นใหม่ ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเป็นภาชนะที่ง่ายต่อการทำความสะอาดและปลอดภัยจากสารเคมีเยี่ยงปัจจุบัน

เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ จึงเป็นเมืองที่เราภาคภูมิใจ เพื่อแสดงให้ชาวไทยได้รู้ว่าบรรพบุรุษของเรานั้นมีภูมิปัญญาไม่แพ้ชาติใดในโลก แสดงให้ชาวโลกได้รู้ว่าชนชาติไทยมีเอกลักษณ์ที่เป็นไทยแท้ไม่แพ้ชาติใดในโลก